สาริกาโมเดล เบทาโกร ขยายผล เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบ 17 แห่ง
สาริกาโมเดล เบทาโกร จับมือ ศธ. มท. และ 11 สถาบันอุดมศึกษา ขยายผลช่องสาริกาโมเดล ชูแนวทาง HAB การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา สร้างชุมชนต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตดี 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด ผ่านเครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB) โดยใช้เครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติร่วมในพิธี นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา 11 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามฯ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกชุมชนในพื้นที่เป้าหมายและให้บริการแก่สังคม เพื่อพัฒนาต้นแบบความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐ ในการนำรูปแบบการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมที่เป็นนวัตกรรม สู่การปฏิบัติในพื้นที่และการขยายผลในวงกว้าง รวมทั้งตอบสนองนโยบายการพัฒนาเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ (Area-based Approach) ของภาครัฐ โดยใช้แนวทาง “การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic–Area Based Community Development: HAB)” ใน 5 ด้าน ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา ซึ่งนำ “ช่องสาริกาโมเดล” แนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเครือเบทาโกร ที่ได้นำเครื่องมือการจัดการ ด้านการเพิ่มผลผลิต (Productivity Management) เข้าไปช่วยชาวบ้านให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ในรูปแบบ Holistic – Area Based Community Development ชุมชนต้นแบบ (ชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี) อาชีพดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมดี โดยมีความรู้คู่คุณธรรม และแก้ไขปัญหาความยากจน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2550 ที่ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการพัฒนาแบบบูรณาการทั้ง 5 ด้าน สร้างกลไกการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งประสบผลสำเร็จถือเป็นโมเดลต้นแบบ จึงมุ่งนำแนวคิดนี้ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ
โครงการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development: HAB) โดยใช้เครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม จะดำเนินโครงการในพื้นที่ปฏิบัติการ 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด ได้แก่
- ) ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
- ) บ้านดอนกลาง ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
- ) ตำบลนิคมลำนารายณ์และตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
- ) ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
- ) บ้านดอนแท่น ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
- ) บ้านทุ่งขาม ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
- ) บ้านวังตาว ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
- ) คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
- ) ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
- ) ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น
- ) ตำบลห้วยแห้ง ตำบลตาลเดี่ยว และตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
- ) ตำบลป่าระกำ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ) ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
- ) ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
- ) ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
- ) ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และ
- )ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ หลักวิชา ส่วนเบทาโกรทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการฯ ถ่ายทอดประสบการณ์และนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม และสนับสนุนงบประมาณ และทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมจัดทำชุดข้อมูล แผนงาน และคู่มือการดำเนินงาน สนับสนุนบุคลากรประสานงานในพื้นที่ ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อร่วมดำเนินโครงการฯ กับบุคคล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งจะมีการติดตามความก้าวหน้า รายงานผล พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงาน เผยแพร่ผลสำเร็จและบทเรียนของโครงการฯ โดยมีเป้าหมายขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปอนาคต