คลีนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เคลียร์ โรคใบด่างมันสำปะหลัง
โรคใบด่าง มันสำปะหลัง กรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน คลีนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 50 จังหวัดทั่วประเทศ เคลียร์ โรคใบด่าง ก่อนลามเข้าประเทศ มั่นใจเอาอยู่ ปูพรมสำรวจเข้มข้นพื้นที่เสี่ยงโรคบริเวณแนวชายแดนไทย กัมพูชา พร้อมเปิดสายด่วนชี้จุดต้องสงสัยโรคใบด่างระบาด
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรคใบด่างมันสำปะหลัง มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus เป็นโรคที่มีความสำคัญทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ที่สำคัญสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ลักษณะอาการที่พบคือใบแสดงอาการด่างเหลือง และลดรูป ต้นแคระแกร็น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชร้ายแรงเข้ามาระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกรและอาจส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ
ตั้งแต่ปี 2558-2561 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง โรคใบด่าง มันสำปะหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย โดยเข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลังบริเวณชายแดนไทย- กัมพูชา และจัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินในกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างการรับรู้โดยประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศจำนวน 50 จังหวัด รวมพื้นที่ 2,668,000 ไร่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 -2560 ไม่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ได้สำรวจพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่างต้องสงสัยในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ของเกษตรกร ในอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 8 ราย พื้นที่ 68 ไร่ ผลการตรวจพบเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังต้องสงสัยกลุ่มไวรัส Begomovirus ซึ่งพบได้ทั่วไปไม่มีความรุนแรงและไม่ได้ทำลายผลผลิตในแปลงปลูกมันสำปะหลัง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับขบวนการผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการทำลายแปลงมันสำปะหลังที่พบอาการต้องสงสัยทั้งหมดตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินที่กำหนดไว้ จากการสอบถามเกษตรกรพบว่านำท่อนพันธุ์มาจากจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้จากข้อสังเกตประเทศไทยไม่เคยมีการรายงานการพบโรคใบด่างมันสำปะหลัง ดังนั้นอาจมีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์เข้ามา ซึ่งผู้ลักลอบมีความผิดตามพระราชบัญญัติกักพืช ห้ามนำเข้า ยกเว้นหัวมันสดและมันเส้น โดยมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“โรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากเพราะสามารถทำลายผลผลิตของเกษตรกรได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจะเข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลังบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และดำเนินการสำรวจโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง หากพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังจะดำเนินการตามแผนฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้ทันที อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือให้ผู้ที่พบเห็นอาการของโรคใบด่างในมันสำปะหลังแจ้ง สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง กรมวิชาการเกษตร โทร. 0–2579–8516 หรือ 061–415–2517 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดำเนินการสำรวจและปฏิบัติการตามแผนฉุกเฉินต่อไป อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว