ลานทองฟาร์ม ร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพ รองรับ FTA พัฒนาโคเนื้อสายพันธุ์เลือดผสม Beefmaster เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนทุกสภาพอากาศ แถมจำหน่ายได้ราคาดี
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA ณ “ลานทองฟาร์ม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายโคเนื้อล้านนา จังหวัดเชียงราย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน FTA เมื่อปี 2563 จำนวน 25.86 ล้านบาท
ในการนี้ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า จากการเข้าร่วมโครงการของลานทองฟาร์ม ส่งผลให้ฟาร์มได้รับองค์ความรู้ และคำแนะนำในด้านต่างๆ จากประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายโคเนื้อล้านนา (นายนเรศ รัศมีจันทร์) และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ทั้งในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ สูตรอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุน รวมถึงวิธีการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ลานทองฟาร์มสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้อาหาร การฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ลานทองฟาร์ม ยังมีเทคนิคการผลิตลูกโคสายพันธุ์ Beefmaster ซึ่งเป็นพันธุ์โคที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนทุกสภาพแวดล้อม โดยในการจำหน่ายโคเพศผู้ให้วิสาหกิจชุมชนนั้น วิสาหกิจชุมชนจะมีการกำหนดราคารับซื้อโคเนื้อในราคาประกัน 100 – 110 บาท/กิโลกรัม
ราคาดังกล่าวจะแตกต่างจากราคาที่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อในพื้นที่ในราคา 60 – 70 บาท/กิโลกรัม ลานทองฟาร์ม มีการจำหน่ายโคเพศผู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนไปแล้วมากกว่า 50 ตัว คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.39 ล้านบาท และคาดว่าปลายปี 2566 จะสามารถจำหน่ายโคให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ อีก 25 ตัว คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 880,000 บาท
เทคนิคในการผลิตลูกโคสายพันธุ์ Beefmaster ของลานทองฟาร์มนั้น มีวิธีการคือ กำหนดให้แม่โค 1 ตัว ต้องผลิตลูกโคให้ได้ 1 ตัว ในระยะเวลา 1 ปี โดยแยกคอกกักแม่โคก่อนคลอด 1 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอด
หลังจากคลอดต้องดูแลแม่โคอย่างใกล้ชิดและเตรียมบำรุงด้วยอาหารข้นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เมื่อลูกโคอายุ 4 เดือนทำการแยกลูกโคออกจากแม่เพื่อทำการหย่านมทำให้แม่โคมีโอกาสฟื้นฟูสุขภาพเร็ว ลดภาระของแม่โคที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อตั้งท้องในปีถัดไป ระยะนี้จะให้ลูกโคกินอาหารข้น รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อการเติบโตที่สมบูรณ์และแข็งแรง
ในส่วนการให้อาหารโค เน้นลดต้นทุนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาปรับสูตรอาหาร ให้เหมาะสมกับโคในแต่ละรุ่น โดยใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น ฟาง รำ กากซีอิ๊ว โดยโค 200 ตัว มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารโคประมาณ 150,000 บาท/เดือน หรือคิดเป็น 750 บาท/ตัว/เดือน
ผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการฯ ส่งผลให้เกษตรกรที่ผลิตโคเนื้อคุณภาพ มีความเข้มแข็ง บริหารจัดการฟาร์มอย่างมีระบบและขั้นตอน มีตลาดรองรับที่แน่นอน จำหน่ายในราคาประกันของโครงการ บริหารจัดการวัตถุดิบในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด พัฒนาสายพันธุ์โคให้ตรงความต้องการตลาดสามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดจาก FTA ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ.