โครงการ “เกษตรวิชญา” เป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นความสำคัญของการเกษตร จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ในพื้นที่บ้านกองแหะ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมสภาพพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูเป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้ ทำให้มีรายได้ มีแหล่งอาหารจากธรรมชาติ การพัฒนาพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง และขยายผลสู่เกษตรกร
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า โครงการเกษตรวิชญา ซึ่งเกษตรวิชญาแปลว่า “ปราชญ์แห่งการเกษตร” เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ เป็นจำนวน 1,350 ไร่ พระราชทานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำศูนย์เรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน เข้าดำเนินงาน โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหมด 16 หน่วยงาน ช่วงต้นเข้าดำเนินงานในเรื่องของ การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น จัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ทำขั้นบันไดดิน การปลูกหญ้าแฝก ร่วมกับระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การทำฝายกั้นน้ำ บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ
แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ พื้นที่แรก เป็นการพัฒนาพื้นที่ป่าให้สมบูรณ์ พื้นที่จำนวน 1,150 ไร่ ได้มีการพัฒนาทำให้สามารถฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ที่ 2 เป็นการจัดทำโครงการธนาคารอาหารชุมชน พื้นที่จำนวน 123 ไร่ ทำให้เกษตรกรสร้างรายได้ สามารถอยู่กับป่าได้ พื้นที่ที่ 3 ดำเนินงานในเรื่อง แปลงสาธิตทำการเกษตรในพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน พื้นที่จำนวน 75 ไร่ มีการปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่สูง พื้นที่ที่ 4 เป็นการจัดสรรที่ดินให้พี่น้องเกษตรกร พื้นที่จำนวน 95 ไร่ เกษตรกรจำนวน 58 ราย รายละ 1 ไร่ เพื่อปลูกพืชหมุนเวียนต่างๆ
โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมูลนิธิโครงการหลวงร่วมขับเคลื่อน การอบรมให้ความรู้ ในเรื่องของการปลูกพืชในพื้นที่สูง จัดหาตลาดให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ มีรายได้ที่เพียงพอ
นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา ได้ดำเนินการจัดงาน “ตามรอยปราชญ์แห่งการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน”