เตรียมรับมือ ฤดู ฝุ่น PM2.5 สมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ จัดระดมความคิดนักวิชาการ-องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หวังสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาการเผา รณรงค์แก้ปัญหาฝุ่นควันพิษที่ต้นเหตุ
นักวิชาการและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ร่วมสะท้อนปัญหาการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 บนเวทีเสวนา “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สร้างความเข้าใจ สู่การแก้ไขอย่างยั่งยืน” จัดโดย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ ชี้ปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นมานานแล้ว พร้อมเปิดประเด็นสร้างความเข้าใจใหม่เรื่องไฟป่า มีทั้งคุณและโทษ ด้านภาคการเกษตรแนะเปลี่ยนต้นตอของปัญหาจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็น “ขยะทองคำ” ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้
นายภิญโญ แพงไธสง นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่อากาศจะแห้งและแล้ง ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตเรื่องปริมาณ hotspot และการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกิดจากไฟป่า และการเผาวัสดุทางการเกษตรเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง ประกอบกับการรับรู้ของภาคสังคมยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งเรื่องของสาเหตุการเกิด ปัจจัยการเกิด และแหล่งที่เกิด รวมถึงกรณีฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ตระหนักดีถึงความสำคัญและการสร้างเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการสัมมนาเพื่อระดมความคิดจากนักวิชาการและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ที่มีทั้งองค์ความรู้ และประสบการณ์ มาร่สวมแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา
โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์และยืนยันได้ เช่น ดาวเทียม เพื่อให้รู้ถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง และออกแบบหรือนําเสนอแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ถูกต้องและยั่งยืน โดยมีวิทยากรที่มาร่วมให้ความรู้ ประกอบด้วย ดร.สุดเขต สกุลทอง จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาด้านการบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผศ.ดร.ชาคริต โชตอมรศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายเดโช ไชยทัพ ผู้อํานวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาว่า การสัมมนาหัวข้อ “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในการสัมมนาหัวข้อสร้างความเข้าใจ สู่การแก้ไขอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นการระดมความคิดจากนักวิชาการและผู้มีความรู้ จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม และช่วยสะท้อนภาพเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันพิษ และฝุ่นละอองขนาดเล็กให้สังคมได้เข้าใจอย่างถูกต้องมากขึ้น และจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาในอนาคตได้อย่างแม่นยําและยั่งยืนต่อไป
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาด้านการบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดขึ้นทุกที่ทั่วในโลก ประเทศไทยมีปัญหาจัดอยู่อันดับที่ 5 ของเอเซีย โดยเฉพาะภาคเหนือจะมีหมอกควันที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาไฟป่าในเมียนมาร์ ที่เดิมทีจะมีเพียงหน้าร้อน แต่ปัจจุบันเกิดจากยุทธศาสตร์การสู้รบ การเผาไร่ที่ทำแทบทุกฤดู และอีกส่วนหนึ่งมาจากอินเดีย รวมทั้งยังเกิดจากการจราจรบนท้องถนนและภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาแต่ไม่ค่อยตรงจุด เป้นการแก้ที่ปลายเหตุ แนะให้ภาครัฐควรต้องกำหนดเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น
ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานแล้ว ชาวบ้านมักจะพูดเล่นว่า ไฟมา ป่าโล่ง พืช รังมด เห็ดก็ได้กิน ส่วนปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากหลายภาคส่วนทั้งจราจร ที่อยู่อาศัยในสังคมเมืองที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) แม้กระทั่งการเปิดแอร์ อีกส่วนหนึ่งเกิดวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ในแต่ละปีจะมี 1.1 ล้านตัน ที่เป็นกิ่งลำไย มะม่วง ข้าว ข้าวโพด บางแห่งอยู่ในพื้นที่สูงเครื่องจักรเข้าไปไม่ได้ก็ต้องเผา บางส่วนก็ไถ่กลบ ป้อนโรงงานไฟฟ้าชีวมวล
สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันหนักกว่าที่อื่น หลักๆ มาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ เมื่อมีแรงกดอากาศสูงในช่วงฤดูหนาวอากาศ ทำให้ฝุ่นควันหรือฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้สภาพสังคมเมืองยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) เพิ่มขึ้นด้วย
และต้องยอมรับว่าการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองเช่นกัน โดยปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ในแต่ละปีจะมีเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งมากกว่า 1.1 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นกิ่งลำไย มะม่วง ข้าว ข้าวโพด นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรบางแห่งก็อยู่ในพื้นที่สูง เครื่องจักรเข้าไปทำงานไถกลบไม่ได้ เกษตรกรจึงเลือกวิธีจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยการเผา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวคิดที่ส่งเสริมให้มีการนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก ทำอาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นชีวมวลอัดแท่งเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งสามารถทำได้จริง แต่ยังทำได้น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่
ดร.สุดเขต ยังได้พูดถึง “ขยะทองคำ” คือการสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันตั้งค่าหัวให้กับขยะ โดยกำหนดราคารับซื้อวัสดุทางการเกษตร และนำมาแปรรูปให้เป็นพลังงาน เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหา เนื่องจากหากมีมาตรการห้ามเผาเพียงอย่างเดียว ก็จะไปกระทบกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งในทางปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่แก้ได้ยากที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแอปพลิเคชัน FireD ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาการเผาโดยเฉพาะ โดยเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เพื่อแจ้งขออนุญาตเผากับทางจังหวัด ซึ่งการได้รับอนุญาตจะพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความชื้นในอากาศ แนวโน้มการลุกลามของไฟ เป็นต้น โดยมีข้อกำหนดห้ามเผาในฤดูแล้ง และห้ามเผาในที่โล่ง เพราะจะทำให้ฝุ่นควันฟุ้งกระจายไปไกลและไม่สามารถควบคุมได้
รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สะท้อนมุมมองของภาคป่าไม้ได้อย่างน่าสนใจว่า ไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติในบ้านเรานั้นไม่เคยมีเกิดขึ้นจริง ที่เห็นเกิดขึ้นล้วนเป็นไฟป่าจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น และยังได้ชี้ให้เห็นว่าการเกิดไฟป่านั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีของการเกิดไฟป่าธรรมชาติ คือเป็นการลดความแออัดของผืนป่า และทำให้เกิดแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ป่า คือ ต้นหญ้าและต้นอ่อนของพืชหลายชนิดที่จะงอกหลังเกิดไฟป่า รวมทั้งเห็ดป่าด้วย
อย่างไรก็ตาม การเกิดไฟป่าในละครั้ง จะทำให้ป่าไม้เสียหายน้อยมากไม่ถึง 1% แต่สัตว์ป่าอาจจะเสียหายมากถึง 90% ประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญคือ การบริหารจัดการไฟป่าให้เหมาะสม เพราะหากไม่มีไฟป่าเลย ก็จะทำให้ป่ามีความหนาแน่นเกินไป จนกระทบต่อระบบนิเวศได้เช่นกัน ซึ่งการบริหารจัดการไฟป่าควรจะต้องพิจารณาทั้งช่วงเวลาและวิธีการเผาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการจำกัดวงขนาดของไฟป่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้ส่งผลกระทบด้านฝุ่นควันน้อยที่สุด
มุมมองนี้สอดคล้องกับมุมมองของ นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ระบุว่า ไฟป่าก็มีประโยชน์ เพราะช่วยทำให้ป่าโล่ง และเกิดของป่า (พืชอาหาร) ให้กับทั้งสัตว์ป่าและชุมชน โดยยกตัวอย่างเขต จ.นครสวรรค์ ที่ผืนป่าสามารถทำให้ชุมชนมีรายได้กว่า 100 ล้านบาท เพียงแต่จะต้องมีการบริหารจัดการไฟป่าให้ถูกต้อง
นายเดโช ไชยทัพ ผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ได้กล่าวถึงการจัดการไฟป่า ว่าปัจจุบันได้มีการโอนอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและจัดการ โดยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 53 ล้านไร่ ที่ให้องค์กรท้องถิ่น 2,368 แห่ง เป็นผู้ดูแล แต่ปัญหาที่พบคือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ และความเข้าในการบริหารจัดการไฟป่า จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุผล แนวทางออกที่เสนอคือ ภาครัฐต้องให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องกับท้องถิ่น เพื่อให้บริหารจัดการและวางแผนได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการระบบเกษตรที่ไม่เผา และต้องมีงบประมาณให้ทำงานอย่างเพียงพอด้วย
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า การเสวนาโดยวิทยากรจากหลายภาคส่วนครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ถึงสาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในมุมมองใหม่ ๆ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน
เนื่องจากเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งจากภาคครัวเรือน ภาคการเกษตรและป่า ซึ่งในส่วนของภาคการเกษตรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีความจำเป็น แต่ประเด็นที่จะต้องมาช่วยกันแก้ไขคือจะทำอย่างไรให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ส่วนไฟป่านั้น ในมุมมองใหม่ที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ทำให้รู้ว่าไฟป่าไม่ได้มีแต่โทษอย่างที่สังคมเคยเข้าใจ แต่ยังมีประโยชน์ในอีกมิติหนึ่ง ที่สังคมจะต้องเปิดใจยอมรับ เพียงแต่จะต้องให้มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเช่นกัน.