100 ปี เขื่อนพระราม 6 อยุธยา

Agri+

100 ปี เขื่อนพระราม 6 ความภูมิใจของผู้ใช้นำ แหล่งน้ำกิน น้ำใช้ พัฒนาชีวิต

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พร้อมด้วยนายทนงศักดิ์ มูลใจตา หัวหน้าฝ่ายวิศกรรม นายสุปัญญา กาญจนธีรวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน นายเอกชัย สำเนียงใหม่ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 และผู้เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนพระราม 6 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2467 มีระบบบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกันทั้งลุ่มน้ำ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะใช้เกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อน (Rule Curve) ที่เป็นมาตรฐานสากล ควบคุมทั้งการรับน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันออกผ่านประตูระบายน้ำสำคัญในอัตราที่กำหนด มีจุดประสงค์เพื่อใช้จัดสรรน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งสนับสนุนภาคการเกษตร อุตสาหกรรม รักษาระบบนิเวศ และบรรเทาภัยแล้งมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1.5 ล้านไร่ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการจ่ายน้ำให้แก่โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าเอกชน และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบด้วย

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า ในปีนี้ครบรอบ 100 ปี เขื่อนพระราม 6 ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดูแล บำรุงรักษา และบริหารน้ำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเขื่อนทำหน้าที่ส่งน้ำให้กับเกษตรกร ได้ทำการเพาะปลูก และประชาชน มีน้ำใช้ได้อย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้นน้ำช่วยสนับสนุนการทำงานของเขื่อนพระราม 6 ทำให้การจัดสรรน้ำมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยเติมน้ำช่วงฤดูแล้ง และช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ช่วยชะลอน้ำช่วงที่มีน้ำหลาก อย่างไรก็ดี ฝากถึงผู้ใช้น้ำ เกษตรกร ผู้ได้รับประโยชน์จากน้ำเขื่อนพระราม 6 ขอให้เห็นคุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่

จาก 100 ปีที่ผ่านมา เขื่อนพระราม 6 ไม่เพียงสะท้อนการเป็นต้นแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะส่งต่อสู่การพัฒนาระบบชลประทานไทยในศตวรรษที่สองต่อไป ล่าสุด คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) เตรียมส่ง “เขื่อนพระราม 6” ให้คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) พิจารณาขึ้นทะเบียนประกวดเข้ารับรางวัลอาคารชลประทานมรดกโลกในการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างครั้งที่ 76 ระหว่างวันที่ 7-13 กันยายน พ.ศ.2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร

ด.ญ.กัญญาภัค สีสันงาม นักเรียนชั้น ป.5 และ ด.ญ.อภิญญา อุ่นพงษ์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดไก่จัน (ชลประทานอุปถัมภ์) กล่าวว่า เขื่อนพระราม 6 เป็นแหล่งน้ำให้กับชาวบ้านได้ทำนาได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งยังเป็นเขื่อนที่กั้นน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านของเรา และทำให้เรามีน้ำในใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซักผ้า ล้างจาน และเป็นเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เราต้องขอบคุณกรมชลประทานที่สร้างเขื่อน มีแหล่งน้ำให้ใช้ประโยชน์ต่างๆ

ด.ญ.กัญญาภัค สีสันงาม นักเรียนชั้น ป.5 และ ด.ญ.อภิญญา อุ่นพงษ์ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดไก่จัน (ชลประทานอุปถัมภ์)

นายสพลดนัย ทิพย์บุตร นักเรียนชั้น ม.4 และ นายสุชิน ดวงแก้ว นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนท่าหลวงวิทยานุกูล กล่าวว่า เขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำ และปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งน้ำใช้ทำการเกษตร ปลูกข้าว ซึ่งน้ำจากเขื่อนมีประโยชน์กับเรามาก ถือเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับชุมชนนำไปใช้ในครัวเรือน ทั้งนี้ ขอขอบคุณกรมชลประทานที่ สร้างเขื่อนพระราม 6 ขึ้นมา และยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้เขื่อนแห่งนี้ยังทำงานอยู่ จนถึงปัจจุบันอายุ 100 ปีแล้ว ขอบคุณอย่างมากยังคงให้เขื่อนแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวบ้าน

นายสพลดนัย ทิพย์บุตร นักเรียนชั้น ม.4 และ นายสุชิน ดวงแก้ว นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนท่าหลวงวิทยานุกูล

ขณะที่ นายสุชาติ ศรีสุวรรณ์ เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมา จนขณะนี้อายุ 60 ปี ได้อาศัยน้ำจากเขื่อนพระราม 6 เป็นแหล่งทำมาหากิน เพราะเขื่อนพระราม 6 นอกจากช่วยเก็บกักน้ำ ชะลอน้ำ ยังผันน้ำได้อีกด้วย ช่วยให้มีน้ำทำนา เลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว และสิ่งที่สำคัญเมื่อก่อนเกษตรกรทำนาเพียงปีละครั้ง เรียกว่านาน้ำฝน แต่ปัจจุบันสามารถทำนาได้ 2 ครั้ง คือนาปี และนาปรัง ทำให้เกษตรกรทำนามีชีวิตที่ดีขึ้น

นายสุชาติ ศรีสุวรรณ์ เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน

“ผมภูมิใจอย่างมาก ที่เรามีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งมีอายุเป็น 100 ปีแล้ว และยังเป็นปราการให้เยาวชนรุ่นหลัง ได้มีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ตลอดไป ต้องขอบคุณหน่วยชลประทานในการสานต่อ มีระบบการจัดการที่ดี บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี” เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กล่าว.