ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยในจังหวัดอุดรธานี

Agri+

ธ.ก.ส. เดินหน้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้กับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 ก.ย. 66 โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการกว่า 2 ล้านราย ทั่วประเทศ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานจังหวัดอุดรธานี เปิดบูธแนะนำบริการครบวงจร ทั้งการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” การประเมินศักยภาพในการสร้างรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ การจัดทำเอกสารต่อท้ายสัญญา ชูกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถั่วคั่วทรายบ้านหนองโน และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดงยางพรพิบูลย์ ต้นแบบการฟื้นฟูอาชีพภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายยุวพล วัตถุ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 2566

โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 283,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ

ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการ พักชำระหนี้ และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ

จากนั้นได้ร่วมมอบผ้าห่มกันหนาวให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อส่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยหนาวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ และเกษตรกรลูกค้าเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 ราย ณ อำเภอบ้านผือ วิทยาลัยพละศึกษาอุดรธานี และอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

นายยุวพล วัตถุ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 26 ก.ย. 2566 ให้ดำเนินมาตรการในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567

ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 592,500 คน (ณ 20 ตุลาคม 2566) ซึ่งในวันนี้ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและลูกค้ารายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการทำงานว่ามีจุดใดที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว สำหรับพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการ 58,500 ราย จำนวนหนี้ 7,978 ล้านบาท และมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile แล้วจำนวน 17,030 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2566)

การดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ พร้อมชูต้นแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถั่วคั่วทรายบ้านหนองโนที่ประกอบธุรกิจผลิตถั่วคั่วทรายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วที่หลากหลาย เช่น ถั่วคั่วทราย ถั่วทอดกรอบและถั่วอบสมุนไพร เป็นต้น

โดยมีการรวมกลุ่มในการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดและรับซื้อถั่วลิสงจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและมีการคัดสรรขนาดของเมล็ดถั่วลิสงที่มีคุณภาพภายใต้กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ทำให้สามารถส่งจำหน่ายสินค้าได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยวางจำหน่ายที่ Tops Super Market ตลาดจริงใจ สนามบินร้านอาหาร และร้านค้าต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี รวมถึงแอปพลิเคชันออนไลน์อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดงยางพรพิบูลย์ ซึ่งทำหัตถกรรมสิ่งทอจากผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามธรรมชาติ มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ประณีตและสวยงาม ทำให้สินค้าของกลุ่มฯ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดย ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนในการพัฒนาชุมชนผ่านโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยกระดับชุมชนไปสู่ชุมชนอุดมสุข พร้อมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำหัตถกรรมให้กับผู้ที่สนใจและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้

ซึ่งทั้งสองกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กับ ธ.ก.ส. เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักหนี้ อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน.