โมเดลความสำเร็จโครงการเลี้ยงไก่ไข่

Agri+

โรงเรียนบ้านแสนสุข โมเดลความสำเร็จโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

“ยังจำภาพวันแรกที่ก้าวมาในโรงเรียนบ้านแสนสุขแห่งนี้ เมื่อ 5 ปีก่อนได้ดี จากโรงเรียนที่เกือบร้าง ใกล้ปิดตัว มีนักเรียนเพียง 39 คน เป็นเด็กไทย 7 คน นอกนั้นเป็นเด็กกัมพูชา มีครูแค่ 4 คน สภาพอาคารถูกทิ้งร้าง พื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ โรงเรียนถูกลืมจากผู้คนในหมู่บ้าน เพราะคนในพื้นที่ไม่มีใครเรียน มีแต่เด็กกัมพูชา ขนาดโรงเรียนอยู่ปากซอยแท้ๆ แต่ไม่มีคนรู้จัก ทุกคนบอกว่าโรงเรียนยุบไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้หมดกำลังใจ กลับยิ่งอยากพัฒนาที่นี่ให้ดีขึ้น

จากวันนั้นถึงวันนี้โรงเรียนบ้านแสนสุขได้พัฒนาแบบพลิกฝ่ามือ ทั้งระบบการเรียนการสอน การเรียนรู้นอกห้องเรียน และการฝึกอาชีพ จากความตั้งใจที่จะให้ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนในใจชุมชน” นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บอกอย่างภูมิใจ

เมื่อย้อนกลับไปต้นปี 2560 โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ติดแนวชายแดนกัมพูชาแห่งนี้ กำลังนับวันรอที่จะปิดตัวลง เพราะนักเรียนเหลือน้อย ด้วยผู้ปกครองเลือกที่จะให้ลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนใหญ่ๆในตัวอำเภอ ภารกิจอันยิ่งใหญ่จึงตกเป็นของ ผอ.บรรจรงค์ ที่ต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โรงเรียนถูกยุบ ด้วยการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนในชุมชน

และเดินหน้าประชาสัมพันธ์เชิงรุก เชิญชวนผู้ใหญ่ใจดี ผู้มีจิตศรัทธาคนใจบุญในโลกโซเชียล ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อปรับปรุงอาคารเรียน ให้ทุนการศึกษา ซื้ออุปกรณ์การเรียน ทำให้โรงเรียนกลับมาน่าเรียน จนวันนี้มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 206 คน เป็นนักเรียนไทย 60 คน ที่เหลือเป็นนักเรียนกัมพูชา และมีครูผู้สอน 12 คน

จากการที่โรงเรียนมีทั้งคลองบ้อมรอบ ดินดำน้ำดี ผอ.บรรจรงค์ จึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการที่นำเข้ามาเป็นต้นแบบโครงการเพื่อการพัฒนาคือ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โดยส่งเรื่องขอสมัครไปยังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท แม้จำนวนนักเรียนจะไม่เข้าเกณฑ์ แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่ต้องการให้การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นทั้งตัวช่วยด้านภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เข้ากองทุนพัฒนาโรงเรียน จึงพยายามผลักดันจนสำเร็จ

มูลนิธิฯ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว เมื่อปี 2562 ทำให้มีแหล่งโปรตีนที่สำคัญเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และจำหน่ายเป็นสวัสดิการให้กับชาวชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่สัตวบาลของซีพีเอฟมาให้ความรู้ ให้คำปรึกษาในการเลี้ยงและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและการสุขาภิบาล

“การเลี้ยงไก่ไข่ที่เพิ่มเป็น 150 แม่ กลายเป็นรายได้หลัก ทำให้เราสามารถขับเคลื่อนงานอื่นๆได้มากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์เกษตรพอเพียง พึ่งตนเองได้ และต่อยอดสู่การสอนวิชาการสร้างอาหารให้เด็ก โดยริเริ่มทำโครงการอื่นๆที่สอดคล้องกัน ทั้งการปลูกผักปลอดสารพิษ ผักสวนครัว ผักสลัดนานาชนิด กล้วย แก้วมังกร ฝรั่ง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กาแฟอาราบิก้า ลูกหม่อน หรือมัลเบอรี่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ที่กลายเป็นแหล่งอาหารมั่นคง ช่วยเหลือเด็กๆและชุมชนรอบข้างได้อย่างมาก กลายเป็นโรงเรียนแนวใหม่ที่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ได้” ผอ.บรรจรงค์ กล่าว

ที่นี่เน้นการเรียนรู้ที่สอดคล้องวิถีชีวิตชนบท มีการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วยกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตเป็นหลัก ผ่านแหล่งเรียนรู้ครบวงจรทำให้ “ผลิตได้ ขายเป็น เห็นคุณค่า ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นการฝึกสอนพื้นฐานอาชีพที่นักเรียนนำไปต่อยอดใช้ได้ในชีวิตประจำวันและอนาคตได้ ควบคู่กับการสร้างครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจเด็ก เข้าใจผู้ปกครอง เป็นครูพันธุ์ใหม่ที่มีจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทุกวันนี้เงินในการพัฒนาโรงเรียนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของครูและนักเรียนทุกคน โรงเรียนมีรายได้วันละ 1,000 บาท นำมาจ้างครูและบูรณะโรงเรียน นักเรียนมีทุนเรียนฟรี ทั้งอาหาร รถรับส่ง และเสื้อผ้าโรงเรียนจัดให้ทุกอย่าง ทำให้พวกเขา “สุขทุกที่ เพราะที่นี่ แสนสุข”

สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่มีเด็กๆเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนั้น น้องเนตรนภา โซ หรือน้องเนตร นักเรียนชาวกัมพูชา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ตนเองอยากช่วยเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้มีพื้นฐานอาชีพในอนาคต โดยแต่ละวันจะทำหน้าที่ให้อาหารไก่และเก็บไข่ไก่ เพื่อนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตที่เหลือนำไปขายที่โรงงานเย็บผ้าที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน รายได้เข้าบัญชีกองทุนโรงเรียนเป็นทุนต่อยอดโครงการฯ ที่สำคัญคือความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างอาหารปลอดภัยให้กับทุกคนในโรงเรียนและชาวชุมชนทุกคน

ส่วน น้องนิดหน่อย ส่อด นักเรียนชาวกัมพูชา เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ตั้งใจช่วยกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่ต้น บอกว่า หน้าที่หลักคือการดูแลแม่ไก่ ช่วยกันกับเพื่อนๆเก็บไข่ไก่และนำไปขาย โครงการนี้ทำให้มีประสบการณ์ตรง ได้ลงมือทำจริง กลายเป็นทักษะอาชีพติดตัว ซึ่งที่บ้านก็เลี้ยงไก่เช่นกัน วิธีการเลี้ยงและการดูแลจากที่โรงเรียน จึงนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงทักษะการทำการเกษตรอื่นๆ ก็สามารถต่อยอดไปทำต่อที่บ้านได้เช่นกัน

วันนี้โครงการเกษตรทั้งหมดภายใต้ ‘โคกหนองนาโมเดล’ ดำเนินการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถต่อยอดสู่ ‘ร้านกาแฟโรงเรียนบ้านแสนสุข’ ที่เป็นแหล่งฝึกสอนอาชีพให้กับน้องๆนักเรียน ขณะที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนยังนำผลผลิตจากโครงการเกษตร ไปให้ผู้ปกครองใช้ปรุงอาหารให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กๆไม่มีปัญหาทุพโภชนาการ และยังแบ่งปันผลผลิตใส่ตู้ปันสุข และทำอาหารแจกให้กับผู้ยากไร้ในชุมชน ผู้ที่ตกงาน รวมทั้งเด็กชายขอบชาวกัมพูชา ที่มารับอาหารช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ โรงเรียนบ้านแสนสุขจึงได้รับการยอมรับและถูกยกให้เป็น “ครัวของชุมชน” สมกับการเป็นโรงเรียนที่เป็น Best Practice ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก ประจำปี 2562 และรางวัลชนะเลิศระดับเหรียญทอง รางวัลทรงคุณค่า สพฐ. OBEC AWARDS ผู้มีผลงานดีเด่นประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ด้านบริหารจัดการยอดเยี่ยม ระดับประถมศึกษาขนาดกลาง

นักเรียนโรงเรียนบ้านแสนสุขจึงเต็มไปด้วยความสุข เพราะมีวิชาพึ่งพาตนเองได้ติดตัวกันทุกคน และยังภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้และผู้ถ่ายทอดความรู้ ให้กับผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศที่เข้ามาศึกษาดูงาน ที่สำคัญ “แสนสุข โมเดล” ของโรงเรียนบ้านแสนสุข ถือเป็นตัวอย่างของความยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยึดหลักความพอเพียง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าถึง ‘ไข่ไก่’ โปรตีนคุณภาพดี ที่จะช่วยลดภาวะทุพโภชนาการแก่เด็กและเยาวชน และสร้างแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนได้อย่างแท้จริง.