CPF ชูการผลิตและผลิตภัณฑ์ยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net-Zero

Agri+

CPF ชูกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net-Zero ในงานประชุมเอเปค 2022

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ต้อนรับผู้นำจากนานาประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจของโลก โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ร่วมแสดงศักยภาพโชว์กระบวนการผลิต และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Sustainable Kitchen of the World Towards Net-Zero



โดยในวันนี้ (17 พ.ย.) นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง และนางสาวอนรรฆวี ชูรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการตลาด ซีพีเอฟ ให้การต้อนรับสื่อมวลชนที่ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธ CP-CPF ซึ่งตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับแนวทาง BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular- Green- Economy Model -BCG) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 หรือ ปี พ.ศ.2593 สอดรับเป้าหมายของรัฐบาลและเป้าหมายของโลก

นายพีรพงศ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีนโยบายมุ่งสู่ Net-Zero อย่างชัดเจน ในปี 2050 ซึ่งปัจจุบัน ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ เป็นเทคโนโลยีสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยกตัวอย่าง การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ มีเป้าหมายว่า ในปี 2025 จะต้องทำให้ได้ 100 เมกะวัตต์ เป็นเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด และอยู่ระหว่างการศึกษานำรถอีวีมาใช้ในกระบวนการผลิต ใช้เทคโนโลยีของไอโอทีในการบันทึกข้อมูลการผลิตเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังให้ความสำคัญกับหลัก BCG มาใช้ อาทิ การใช้พลังงานชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในฟาร์มไก่ไข่ที่นำมูลสัตว์มาหมักเป็นแก๊ส และนำแก๊สไปผลิตไฟฟ้า รวมทั้งภายในปลายปีนี้ ซีพีเอฟได้ประกาศยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 100 % สำหรับกิจการในประเทศไทย และหันมาใช้พลังงานชีวมวล(ไบโอแมส)อาทิ เปลือกไม้ แทน เป็นต้น โดยปัจจุบัน ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์) อยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และพยายามขยายการผลิตพลังงานเหล่านี้เพิ่มขึ้น



สิ่งที่ซีพีเอฟทำในทุกวันนี้ มองประโยชน์ที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก แล้วจึงมองประโยชน์ขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย ตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือซีพี ขณะเดียวกัน ในด้านของความยั่งยืน เรามุ่งไปที่ระดับโลก จากการที่ได้เห็นสภาวะการเปลี่ยนแปลง โลกร้อน น้ำท่วม แห้งแล้ง ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง เชื่อว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ จะมีส่วนช่วยและผลักดันธุรกิจอื่นๆให้สามารถก้าวสู่ความยั่งยืนด้วยกัน และในฐานะที่ซีพีเอฟเป็นผู้นำในธุรกิจที่เกี่ยวกับปศุสัตว์และอาหาร เรายังดูแลซัพพลายเชนของเราด้วย เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ

ด้านคุณอนรรฆวี กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปัจจัย 3 เรื่อง ได้แก่ Innovation Wellness และ Planet โดยในส่วนของ Innovation เป็นเรื่องที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญมาโดยตลอด นวัตกรรมอาหารของซีพีเอฟมุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ส่วนเรื่อง Wellness เราพัฒนาสินค้าที่ช่วยยกระดับสุขภาพของผู้บริโภค ที่ผ่านมาเราก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์หมู ไก่ CP Selection ที่ใช้นวัตกรรมการเลี้ยงด้วย โปรไบโอติก ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ปัจจัยที่ 3 คือ เรื่อง Planet ซีพีเอฟร่วมกับ RD Center และทีมงานวิศวกรรม และซัพพลายเชน เพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาสินค้าทุกตัวตอบโจทย์ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต



นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ภาคภูมิใจที่มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ยั่งยืน คือ นวัตกรรมเนื้อจากพืช Meat Zero และ ไก่เบญจา เป็นเมนูพิเศษเสิร์ฟงานเลี้ยงอาหารค่ำการประชุมผู้นำภาคเอกชนของเอเปค หรือ APEC CEO Summit Reception 2022 ให้ผู้นำระดับโลกได้ลิ้มลองความอร่อย ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์ มีห่วงโซ่การผลิตภายใต้แนวคิด BCG โมเดล ตอกย้ำคุณภาพอาหารที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก.