นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การเลี้ยงจิ้งหรีด โดยทั่วไปสามารถเลี้ยงได้ทุกช่วงเวลา โดยช่วงที่จิ้งหรีดเจริญเติบโตได้ดีที่สุด คือ ช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่จิ้งหรีดจะกินอาหารตลอดเวลาทำให้โตไวกว่าช่วงฤดูอื่น ตลอดจนแม่พันธุ์จิ้งหรีดวางไข่ได้ดี ไข่จิ้งหรีดมีการฟักเป็นตัวอ่อนได้ค่อนข้างเร็วอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงจิ้งหรีดในช่วงร้อนแล้งก็ยังคงต้องได้รับการดูแลจัดการการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ
เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดต้องพึงระวัง ได้แก่
1. ควรจัดที่หลบซ่อนของจิ้งหรีดภายในกล่องเลี้ยงให้มีมากพอและจัดให้โปร่ง เพื่อให้ภายในกล่องเลี้ยงมีการถ่ายเทอากาศได้ดี หากอากาศร้อนมาก ควรมีการฉีดพ่นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อระบายความร้อน
2. ควรเปลี่ยนน้ำในถาดที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดทุกวัน โดยอาจนำวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ใส่ในถาดน้ำด้วยเพื่อให้น้ำระเหยช้าลง และเก็บมูลจิ้งหรีดเดือนละสองครั้ง
3. อาหารที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีด ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปต้องไม่เสื่อมคุณภาพ ถ้าเป็นพืชผัก เช่น ฟักทอง หรือผักพื้นบ้านอื่น ๆ ต้องปลอดภัยจากสารเคมี เพราะจิ้งหรีดจะมีความรู้สึกไวต่อสารเคมี หากกินอาหารที่มีสารเคมีปะปนอยู่จะทำให้จิ้งหรีดตายได้
4. หากพบว่าจิ้งหรีดตาย ต้องสังเกตว่าซากจิ้งหรีดมีกลิ่นเหม็นหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นเหม็นแสดงว่าจิ้งหรีดตายเนื่องจากติดเชื้อจุลินทรีย์แบคทีเรีย หรือไวรัส เช่น โรคท้องบวม เป็นต้น ต้องทำลายซากจิ้งหรีดที่เป็นโรคโดยการฝังใต้ระดับผิวดินไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ป้องกันสัตว์อื่นมาขุดคุ้ย แล้วราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือปูนขาว หรือเผาทำลายซาก ตลอดจนทำความสะอาดอุปกรณ์การเลี้ยงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพักการเลี้ยง 14-21 วัน ก่อนการเลี้ยงจิ้งหรีดชุดใหม่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจิ้งหรีดนับเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มาแรงในตลาดโลก ผู้คนนิยมบริโภคจิ้งหรีดเป็นอาหารมากขึ้น เพราะมีโปรตีนสูง ปลอดสารพิษ ตลอดจนได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งอาหารอนาคต (Future Food) ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มองเห็นศักยภาพของจิ้งหรีดว่าสามารถสร้างอาชีพทำรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดในรูปแบบฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนเกิดเป็นอาชีพที่เสริมสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรและได้รับความนิยมอย่างมาก
เนื่องจากใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ไม่ต้องการน้ำมาก และไม่ต้องใช้แรงงานนอกครัวเรือน ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุก็สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ ปัจจุบันจิ้งหรีดจากประเทศไทยมีคุณภาพ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีด สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตอบรับกระแสของโลกที่ต้องการหาอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นโอกาสสร้างรายได้ของเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี
หากเกษตรกรสนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ตามช่องทางโทรศัพท์ กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลข 0 2940 6102.