ผลไม้เมืองนนท์ สินค้า gi นนทบุรี
จังหวัดนนทบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มและมีคูคลองน้ำเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากการขุดขึ้นมาใหม่ จึงเหมาะแก่การปลูกพืชและทำสวนผลไม้ เกษตรกรมีจุดเด่นและความพร้อมในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างจุดสนใจและอนุรักษ์พืชพื้นถิ่นในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ชูผลไม้เมืองนนท์เป็น สินค้าgi (Geographical Indication) ของจังหวัดนนทบุรี
ปัจจุบันมีพืชที่เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) ทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่
ทุเรียน
มะม่วงยายกล่ำ
กระท้อนห่อบางกร่าง
โดย GI เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจงในพื้นที่การเพาะปลูก จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ประจำท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยกับ อะกรี พลัส ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นว่าการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร และเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ ทำให้เกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภค นอกจากนี้ยังสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับชุมชน สร้างรายได้และความสามัคคีให้เกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่น รวมถึงพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรในการเยี่ยมชมการผลิตสินค้า GI ช่วยสร้างโอกาส สร้างจุดแข็งให้แบรนด์ในชุมชน
แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตร GI มี 2 แนวทาง คือ
- ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าเกษตร GI กับเกษตรกร โดยขยายพื้นที่การปลูกพืช GI ที่มีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเพิ่มขั้น รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร
- ส่งเสริมการตลาด โดยสร้างโอกาส/จัดพื้นที่ เพิ่มช่องทางการขายสินค้า GI ในโมเดิร์นเทรด และศูนย์การค้าชั้นนำ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร
“กรมฯ ได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในการให้ความสำคัญ เรื่องการพัฒนาต่อยอดและขยายสินค้าเกษตร GI เพื่ออนุรักษ์พืชท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะ “ทุเรียนเมืองนนท์” ที่มีคุณภาพดี รสชาติหวานอร่อย มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก และมีมูลค่าทางการตลาดสูง โดยปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนทั้งหมด 2,899 ไร่ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเผยแพร่ข้อมูลของสินค้า GI ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญและเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐาน ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรต่อไป” นางดาเรศร์กล่าว