กรมประมง จับมือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมศึกษาวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมให้มีคุณภาพดี ด้วยเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์จนประสบความสำเร็จ!! พร้อมแจ้งเกิด 2 สายพันธุ์ใหม่ ล่าสุด! “เพชรดา 1” (เพ็ด-ชะ-ดา-หนึ่ง) เจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” ต้านทานโรค EMS-AHPND หวังสร้างทางเลือกให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้ใช้ประโยชน์ทดแทนการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมั่นคงและยั่งยืน
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยในอดีตสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูงทั้งภายในและต่างประเทศ กระทั่งเมื่อปี 2555 การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยประสบวิกฤตการระบาดของโรคตายด่วน หรือ EMS-AHPND สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในด้านการวิจัยนั้น กรมประมงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. ดำเนินการโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การสร้างประชากรพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวปลอดโรคและโตดีเพื่อการเพาะเลี้ยง
ในประเทศไทยและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมให้มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยี
การปรับปรุงพันธุ์ โดยการคัดเลือกร่วมกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องหมายพันธุกรรมโมเลกุล ซึ่งได้แก่ เครื่องหมายสนิป และไมโครแซทเทลไลท์ จนประสบผลสำเร็จ และได้กุ้งขาวแวนนาไม 2 สายพันธุ์ใหม่ คือ “เพชรดา 1 ” ซึ่งมีลักษณะเด่นด้านการเจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” มีลักษณะเด่นในด้านการต้านทานโรค EMS-AHPND
นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เปิดเผยถึงรายละเอียด การศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า ได้นำประชากรกุ้งขาวแวนนาไมมาจาก 4 แหล่ง คือ SIS, Guam, Kona Bay และสายพันธุ์ในประเทศไทย
โดยประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอไมโครแซทเทลไลท์ จำนวน 8 ตำแหน่ง และตรวจสอบการปลอดจากเชื้อก่อโรค 8 โรค คือ โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคทอร่าซินโดรม (TSV)
โรคหัวเหลือง (YHV) โรคแคระแกร็น (IHHNV) โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV) โรคไวรอลโคเวร์ทมอร์ทาลิตี้ (CMNV) โรคอีเอชพี (EHP) และโรคเอเอชพีเอ็นดี (AHPND) หรือโรคตายด่วน (EMS-AHPND) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ในการปรับปรุงพันธุ์ดำเนินการเลี้ยงกุ้งภายใต้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโต ควบคู่ไปกับการตรวจวิเคราะห์เปรียบเทียบ
ความหลากหลายทางพันธุกรรมระหว่างประชากรโดยใช้เครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์
ซึ่งผลการศึกษาปรากฎว่าประชากรกุ้งขาวที่รวบรวมจากแหล่งภายในประเทศเหมาะสมที่สุดสำหรับนำมาใช้เป็นประชากรพื้นฐาน (base population) ในกระบวนการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างประชากรพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้น จึงดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือก (selective breeding) จำนวน 6 รอบคัดเลือก หรือ 6 รุ่น/ชั่วอายุ (generations) โดยเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานวิธีแบบมาตรฐานเดิม (conventional) ร่วมกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องหมายโมเลกุล (molecular markers) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความแม่นยำในกระบวนการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้ประชากรพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวปลอดโรค 2 สายพันธุ์ คือ “เพชรดา 1 ” และ “ศรีดา 1” นั่นเอง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า สายพันธุ์โตดี “เพชรดา 1 ” ซึ่งทำการปรับปรุงพันธุ์และดำรงรักษาสายพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จากผลการเลี้ยงทดสอบการเจริญเติบโตในบ่อผ้าใบภายนอกอาคาร และการเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ภายในอาคารปรับปรุงพันธุ์
พบว่า การเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์ “เพชรดา 1 ” ทั้ง 2 แบบ แสดงการเจริญเติบโตสูงขึ้นจากรุ่น P0 ถึงรุ่น F6 นอกจากนี้การทดสอบการเจริญเติบโตโดยการเลี้ยงเปรียบเทียบกับพันธุ์กุ้งจากแหล่งอื่น ทั้งในฟาร์มเกษตรกรและในศูนย์ฯ พบว่า สายพันธุ์โตดี “เพชรดา 1 ” มีค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตสูงกว่าพันธุ์กุ้งแหล่งอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ และจากการเลี้ยงกุ้งรุ่น F6 ในบ่อผ้าใบความจุ 25 ลูกบาศก์เมตร พบว่า ผลการเจริญเติบโตกุ้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.46 กรัม/วัน น้ำหนักเฉลี่ย 43.76 กรัม/ตัว และมีอัตรารอดตายเฉลี่ย 91%
ส่วนสายพันธุ์ต้านโรค EMS-AHPND “ศรีดา 1” ทำการปรับปรุงพันธุ์และดำรงรักษาสายพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช จากผลการทดสอบความต้านทานเชื้อก่อโรค EMS-AHPND พบว่า ค่าเฉลี่ยอัตรารอดตาย จาก 37.51±12.24% ในรุ่น P0 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 63.59±33.36% ในรุ่น F6 โดยผลการทดสอบความต้านทานเชื้อก่อโรค EMS-AHPND ในรุ่น F4, F5 และ F6 เปรียบเทียบกับกุ้งจากแหล่งพันธุ์อื่น พบว่า กุ้งทุกรุ่นมีอัตรารอดตายเฉลี่ยไม่แตกต่างกับทุกแหล่งพันธุ์ที่นำมาเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบกุ้งสายพันธุ์ต้านโรค EMS-AHPND “ศรีดา 1” ในรุ่น F6 ได้แสดงถึงความสามารถในการต้านเชื้อก่อโรค EMS-AHPND ของกุ้งกลุ่มคัดเลือกรุ่นล่าสุดว่ามีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากุ้งกลุ่มควบคุมในรุ่นเดียวกันและกุ้งจากแหล่งพันธุ์เอกชนบางแหล่ง
รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กุ้งขาวแวนนาไมทั้ง 2 สายพันธุ์ ยังอยู่ในระยะการวิจัยเพื่อต่อยอดเพิ่มเติม โดยกรมฯ ได้นำกุ้งขาวที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์จากโครงการฯ ดังกล่าว มาทำการทดสอบในเชิงพาณิชย์ ทั้งในด้านการใช้พ่อแม่พันธุ์ การเพาะฟักและอนุบาล รวมถึงการนำไปเลี้ยงให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการในบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรที่มีรูปแบบและสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการนำกุ้งขาวทั้ง 2 สายพันธุ์ ไปเลี้ยงให้เกิดผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ
ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลได้ใช้ประโยชน์ในการทดแทนการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลจากต่างประเทศ ลดการใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากบ่อดินซึ่งมีความเสี่ยงกับเชื้อก่อโรค ลดการสูญเสียผลผลิตของเกษตรกรจากโรคระบาด อีกทั้งผลผลิตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทยมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป.