ผลผลิตลองกอง ของภาคใต้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 สาเหตุจาก ฝนตกชุก ส่งผลให้ลองกองร่วง
ผลผลิตลองกอง ของภาคใต้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 สาเหตุจาก ฝนตกชุก ส่งผลให้ลองกองร่วง กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เตรียมวางแผนการตลาดเพื่อควบคุมปริมาณสินค้าลองกองชายแดนใต้ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ลองกอง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ มีแหล่งผลิตในภาคใต้ของประเทศไทย โดยในปี 2561 ได้ประมาณการผลผลิตลองกองของภาคใต้ไว้จำนวน 70,383 ตัน มากกว่าผลผลิตปี 2560 ประมาณร้อยละ 613.82 (ปี 2560 ผลผลิต 9,860 ตัน) โดยจังหวัดที่มีผลผลิตมากและต้องเฝ้าระวังคือ 4 จังหวัดชายแดนใต้ อย่าง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา มีผลผลิตรวม 35,649 ตัน คิดเป็นร้อยละ 50.65 ของปริมาณผลผลิตลองกองใต้ทั้งหมด
ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตลองกองไปแล้ว 30,326 ตัน คิดเป็นร้อยละ 43 ของผลผลิตลองกอง 14 จังหวัดภาคใต้ คงเหลือผลผลิตประมาณ 4 หมื่นตัน หรือร้อยละ 60 ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต แต่จากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตลองกองในขณะนี้เปรียบเทียบกับข้อมูลที่คาดการณ์ไว้ พบว่า ผลผลิตลองกองของภาคใต้ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 2 หมื่นตัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีฝนตกชุก ทำให้ลองกองผลแตก หลุดร่วงเป็นจำนวนมาก
เดือนกันยายน – ตุลาคม เป็นช่วงที่ต้นลองกองออกผลมากที่สุด แต่ในช่วงดังกล่าวมีฝนตกเป็นระยะๆ ทำให้มีความชื้นอากาศสูง ทำให้เกิดโรคและการระบาดของเชื้อราได้ง่ายโดยมีสำหรับสาเหตุหลักมาจากเชื้อรา Phomopsis sp. ถ้าไม่มีการดูแลที่ดีอาจทำให้ผลผลิตลองกองเสียหายทั้งช่อทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย ถ้าพบการระบาดเกษตรกรควรป้องกันดังนี้
- หากพบการระบาดควรเก็บผลที่เป็นโรคไปทำลาย หรือถ้ามีการร่วงหล่นอยู่ใต้ต้นให้เก็บไปทิ้งบริเวณนอกสวน
- ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่ม ต้นลองกองให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและแสงแดดส่องได้ ตลอดจนตัดแต่งช่อผลลองกอง ปลิดผลด้อยคุณภาพออก เพื่อให้ผลที่เหลือมีขนาดใหญ่ ได้ช่อสวย ขนาดใหญ่ ขายได้ราคาดี ซึ่งสอดคล้องตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผลคุณภาพดี และระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้ว
- ทำการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชไม้ผล พวกผีเสื้อมวนหวาน แมลงวันผลไม้ และแมลงหวี่ ที่เป็นตัวทำลายผลลองกองให้เกิดแผล ส่งผลให้เชื้อราระบาดได้ง่าย โดยใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล ไธเบนดาโซล ฉีดพ่นตามอัตราที่ฉลากแนะนำและเมื่อเก็บเกี่ยวลองกองจากต้นแล้ว ควรจัดเรียงผลผลิตลองกองวางลงในภาชนะ เช่น ตะกร้า เข่ง ให้เป็นระเบียบไม่อัดแน่นจนเกินไป และควรจัดหาวัสดุรองก้นภาชนะเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนในการขนย้ายเพราะถ้าหากช้ำอาจจะทำให้เสียหายทั้งช่อ