รัฐต้องตอบ ! เหตุใดต้องเอาสุขภาพคนไทยไปแลกกับสงครามภาษี

Agri+

ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำโลกที่รับมือยากที่สุด เพียงแค่เวลาไม่กี่เดือนหลังรับตำแหน่ง ท่านได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกโดยการทำลายระบบการค้าเสรีไปเรียบร้อยจากมาตรการภาษีนำเข้าต่างตอบแทน หรือ Reciprocal tariffs ทันทีที่มีการประกาศอัตราภาษีสำหรับประเทศไทยที่ 36% สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นตัวแทนสมาพันธ์ปศุสัตว์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอรายการสินค้านำเข้าเพิ่มจากสหรัฐอเมริกาเพื่อลดการขาดทุนระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ด้วยหวังว่าเงื่อนไขของการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจะไม่อยู่ในเงื่อนไขเจรจา

ทางสมาคมฯ ได้เสนอให้มีการนำเข้าถั่วเหลือง 3 ล้านตัน นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตวส่วนขาดอีก 4.2 ล้านตัน (มีความต้องการใช้ 9.2 ล้านตัน ผลิตในประเทศได้เพียง 5.0 ล้านตัน) คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 84,000 ล้านบาท อันที่จริงการนำเข้าถั่วเหลือง 3 ล้านตันก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับภาคเกษตรที่ต้องมาร่วมรับผิดชอบสถานการณ์นี้

สาเหตุที่ผู้เขียนมีความเห็นเช่นนี้ เนื่องจากจากข้อมูล ITC Export Potential Map พบว่า ยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มที่ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอโดยที่เราอาจไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวโพด GMO จากสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยมากที่สุด ถ้าหากต้องนำเข้าข้าวโพด GMO จากสหรัฐอเมริกาเพิ่ม สู้อนุญาตให้ปลูกข้าวโพด GMO ในไทยไปเลยจะดีกว่า ไม่ต้องนำเข้าให้เสียต้นทุนค่าเดินเรือ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคก็บริโภคน้ำมันพืชจากถั่วเหลือง GMO อยู่แล้ว

สินค้ารองลงมาคือ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป (สำหรับวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน) และกากถั่วเหลือง (ที่ได้จากการสกัดน้ำมัน) ซึ่งถั่วเหลืองมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าศักยภาพในการส่งออกและมูลค่าการส่งออกจริงมากที่สุด และมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มเติมได้อีกคิดเป็นมูลค่า 866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท)

แต่มีข้อเสนอจากบางท่านให้นำเข้าเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถ้าพิจารณาข้อมูลของ ITC จะเห็นว่า ตลาดเครื่องในของไทยมีศักยภาพในการนำเข้าไม่มากเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากนำเข้ากลุ่มนี้ก็จะยกระดับคุณภาพการรักษาให้กับการแพทย์ไทย ตอบสนองต่อ medical hub ของรัฐที่พยายามจะผลักดันมีแต่ได้กับได้ เหตุใดจึงต้องนำเข้าเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อสารเร่งเนื้อแดงตกค้างมาเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไทย

การบริโภคเนื้อสัตว์/เครื่องในสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและอาการผิดปกติต่อสุขภาพได้หลากหลาย เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) มีอาการใจสั่น (Palpitations) ความดันโลหิตสูงขึ้น มือสั่น กล้ามเนื้อสั่นกระตุก (Tremors) ปวดศีรษะ วิงเวียน อาจมีอาการกระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณสารตกค้างที่บริโภคเข้าไป และความไวต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล

จะเห็นได้ว่า การนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในประเภทต่าง ๆ มิได้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาว แม้การนำเข้าจะช่วยลดราคาขายเนื้อสุกรในประเทศถูกลง แต่ต้นทุนแฝงด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การนำเข้าเฉพาะแค่เครื่องในจากสหรัฐอเมริกา นอกจากจะไม่ได้ช่วยลดการขาดดุลแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะมีการสวมสิทธิ์นำเข้าเนื้อหมูมาด้วยหรือไม่ นี่คืออีกประเด็นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวล เพราะเหตุการณ์หมูเถื่อนก่อนหน้านี้ก็ส่งผลให้เกษตรกรต้องเลิกอาชีพไปเป็นจำนวนมาก จนถึงวันนี้เรื่องหมูเถื่อนก็เงียบหาย มิสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้แต่อย่างไร

ประเทศไทยเรามีการผลิตสุกรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ดี ไม่ต้องส่งออกหรือนำเข้า อาจมีบางช่วงเช่นตอนนี้ที่ราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มมีชีวิตปรับขึ้นมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและโรคสุกรที่ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ซึ่งสถานการณ์น่าจะดีขึ้นภายในช่วงสองเดือนนี้ ราคาคงไม่เพิ่มขึ้นรุนแรง เพราะลำพังผู้บริโภคเองก็มีกำลังซื้อหดตัวด้วยพิษเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ตอนนี้

ผู้เขียนจึงหวังได้แต่ว่าฝ่ายเจรจาของไทยจะไม่เอาเกษตรกรและผู้บริโภคไปแลกกับการนำเข้าเนื้อสุกรและเครื่องในจากอเมริกา เพราะผลที่ได้ไม่คุ้มกันเลยจริงๆ หากภาครัฐจะนำเข้า ภาครัฐต้องตอบให้ได้ว่าเหตุใดต้องเอาสุขภาพคนไทยไปแลก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าของไม่ดี มีความเสี่ยง รวมถึงความเสี่ยงถึงขั้นดับอนาคตผู้เลี้ยงสุกรไทยจนสิ้นอาชีพ

เรื่องโดย: ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์