การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ผ่านไป 2 วัน เข้มข้นด้วยเนื้อหาที่ฝ่ายค้านยกมาซักฟอกรอบด้าน ซึ่งการแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน เงินเฟ้อ และราคาสินค้าแพง เป็นประเด็นหนึ่งที่วิพากษ์กันอย่างร้อนแรง โดยรัฐบาลหวังโชว์ผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ว่าทุกอย่างอยู่ในกำมือด้วยมาตรการควบคุมและตรึงราคา ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ต่ออายุมาตรการตรึงราคาสินค้าควบคุม 46 รายการ บริการ 5 รายการ ที่หมดอายุไปวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ออกไปอีก 1 ปี สินค้าใหญ่น้อยไม่สามารถปรับราคาได้ ต้นทุนที่ถีบตัวสูงขึ้นจากวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ
กระทรวงพาณิชย์ยังจ่อจะคุมอาหารสดที่เสี่ยงสูง เสียหายง่าย เก็บได้ไม่นานอย่าง เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ที่เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต ประสบกับต้นทุนการผลิตสูงแบบครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ที่ตลาดโลกปรับราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 30% และต้นทุนพลังงานที่น้ำมันดิบทะยานขึ้นยืนเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล แบบหาทางลงไม่เจอและต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้ราคาอาหารโลกปรับสูงขึ้น 20-21% ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา (รายงานวิกฤตอาหารโลกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ : FAO)
การขอความร่วมมือเกษตรกร สมาคมที่เกี่ยวข้องต่างๆ และภาคเอกชน ตรึงราคาให้นานที่สุด…คำถามคือจะตรึงได้นานแค่ไหนเพื่อผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน ขายสินค้าขาดทุน สุดท้ายต้องหยุดหรือเลิกการผลิต ข้าวของและอาหารก็จะหายไปจากตลาดและขาดแคลน ภาระตกหนักที่ผู้บริโภควนไป
ล่าสุด มีเสียงเตือนฟังชัดๆ จากกูรูทางเศรษฐศาสตร์ ศาตราจารย์เกียรติคุณ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกโรงชี้แนะรัฐบาลและสร้างความเข้าใจกับสังคมให้รับรู้ถึงแนวทางการบริหารจัดการราคาสินค้าของไทยด้วยหลักการและเหตุผลผ่านสื่อมวลชนหลายแขนงว่า รัฐบาลควรเลิกคุมราคาอาหาร เพราะเป็นการทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารในการขยายการผลิต และรัฐบาลจำเป็นต้องท่องสูตร “ราคาแพง ดีกว่าขาดตลาด” เพราะราคาสินค้าแพง เกษตรกรจะมีแรงจูงใจเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็วและราคาสินค้าก็จะลดลงเองตามธรรมชาติเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลยิ่งควบคุมราคาการผลิต เกษตรกรก็จะไม่มีแรงจูงใจเพราะทำแล้วไม่ได้กำไรและหยุดการผลิตในที่สุด ซึ่งสินค้าอุปโภคก็ไม่แตกต่างกัน
บทบาทที่สำคัญของภาครัฐ คือ ต้องให้ข้อมูลข่าวสารผู้บริโภคอย่างถูกต้องและชัดเจนว่า ประเทศไทยมีอาหารเหลือเฟือ เราส่งออกอาหารส่วนเกิน อย่าทำให้ประชาชนตกใจแล้วแห่ไปกวาดซื้ออาหารจนหมดชั้น หรือไปซื้อกักตุน
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวย้ำว่าการค้าเสรี เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตส่วนเกิน เราไม่ควรเห็นแก่ตัว อย่าจำกัดการส่งออก-นำเข้า อย่าแทรกแซงตลาด เพราะการค้าเสรีเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้คุมกฎราคาสินค้า ยังย้ำชัดเดินหน้านโยบาย “วิน-วินโมเดล” (Win-Win Model) คือ ต้องดูปริมาณสินค้าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน และผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ จะอนุญาตให้ปรับราคาได้บางรายการเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบสูงต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงขึ้น โดยเน้นการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หากติดตามดูตั้งแต่ต้นปีผ่านมา ยังไม่สะดุดตาว่าสินค้าใดได้รับอนุมัติให้ปรับราคาอย่างมีนัยสำคัญเลย
แบบนี้เห็นทีจะไม่ วิน-วิน แต่เป็นคุณอยู่ได้ ผู้ประกอบการไม่รอด เพราะอย่างที่ทราบกันภาคการผลิตเจอพิษวิกฤตซ้ำซ้อน กระทบต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% กันถ้วนหน้า ผู้ผลิตหน้าแห้งขายสินค้าขาดทุน เลิกผลิตเป็นทางออกเจ็บตัวน้อยที่สุด อย่าว่าเป็นการเอาตัวรอดเลย และไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ไปต่อไม่ได้จริงๆ.
บทความโดย : สมสมัย หาญเมืองบน