ร้อน แล้ง หนัก ! กระทบผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เสียหายสูง

PIG&PORK


ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ชี้ฤดูร้อน-ภาวะแล้ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ เกษตรกรตัดสินใจเข้าเลี้ยงสุกรลดลง เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราเสียหาย คาดปริมาณหมูออกสู่ตลาดน้อยลง ทิศทางราคามีแนวโน้มปรับขึ้นตามกลไกตลาด

นายสินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศที่ร้อนมาก และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการนำสุกรเข้าเลี้ยง

จึงลดความเสี่ยงด้วยการลดปริมาณสุกรเข้าเลี้ยง โดยเลี้ยงให้บางลง เพื่อป้องกันปัญหาอากาศร้อน ที่กระทบตัวสัตว์ทำให้เครียดง่าย กินอาหารน้อยลง ส่งผลให้การเติบโตช้า ขณะเดียวกัน สัตว์อ่อนแอและเจ็บป่วยง่ายกว่าปกติ และการติดเชื้อโรคเกิดขึ้นง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดต่ำลง

เกษตรกรยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการเลี้ยงสุกร และคุณภาพน้ำไม่สะอาด เสี่ยงกระทบสุขภาพสุกร มีโอกาสเกิดโรคท้องร่วง

ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการจัดเตรียมน้ำให้เพียงพอและการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้

ขณะเดียวกัน โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร หรือโรค PED ที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ ยังเป็นอีกปัญหาที่สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก

“ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศ เหลือเพียง 50,000 กว่าราย จากที่เคยมีถึงกว่า 200,000 ราย จากปัญหาโรคในสุกรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากราคาสุกรตกต่ำ จากกรณีหมูเถื่อนที่แอบลักลอบนำเข้ามาดัมพ์ตลาดในประเทศ ที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ในขณะนี้

เมื่อมีปัญหาร้อนแล้งและโรคสุกรเข้ามาสมทบ ทำให้การสูญเสียในฟาร์มสูงถึง 30-40% ผลผลิตสุกรมีปริมาณลดลง และยังต้องมีภาระในการซื้อน้ำใช้อีก จึงต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น สวนทางการราคาขายสุกรหน้าฟาร์ม จนเกษตรกรหลายรายมีความคิดที่จะหยุดเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งจะกระทบกับปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน” นายสินธุกล่าวและได้กล่าวต่ออีกว่า

การที่ผู้เลี้ยงสุกรเลี้ยงแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ จากการลดจำนวนการเลี้ยง ทำให้ปริมาณสุกรขุนลดลง จะส่งผลให้ราคาอาจปรับสูงขึ้นบ้างจากเหตุผลข้างต้น ซึ่งการปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญของผู้เลี้ยง เพื่อให้ยังคงยืนหยัดเลี้ยงสุกรต่อไป และมั่นใจว่าจะสามารถขายสุกรได้ในราคาตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ไม่ต้องเผชิญภาวะขาดทุนสะสมดังเช่นที่ผ่านมา.