ผู้เลี้ยงหมูปลื้ม รัฐเตรียมเยียวยาเกษตรกร เพิ่มกำลังใจฟื้นอาชีพ ผลักดันซัพพลายหมู ย้ำต้องปล่อยกลไกตลาดทำงานเสรี ช่วยสร้างสมดุลอุปสงค์-อุปทาน
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงกรณีที่ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมปศุสัตว์เตรียมเสนองบกลางปี 2565 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเร่งเยียวยาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกร เป็นงบประมาณกว่า 753 กว่าล้านบาท ว่าถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนจากการแก้ปัญหาสะสมที่เกษตรกรต้องแบกรับมาตลอด
โดยเฉพาะเรื่องการเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้กับผู้เลี้ยงที่ประสบปัญหาเรื่องโรคในสุกร และได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ ที่กำหนดให้มีการทำลายสุกรเพื่อป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ทำให้เกษตรกรมีเงินทุนในการเริ่มต้นเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ช่วยให้คนเลี้ยงมีกำลังใจในการสานต่ออาชีพ และเร่งเพิ่มซัพพลายสุกรเข้าสู่ระบบเพื่อไม่ให้ปริมาณสุกรขาดแคลน สร้างความมั่นคงในอาหารให้กับคนไทย
“การเยียวยาให้แก่เกษตรกรนอกจากจะช่วยให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพได้อีกครั้งแล้ว ยังช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงและจัดทำระบบการป้องกันโรคให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้อย่างมั่นใจ แม้ว่าวันนี้การเลี้ยงต้องใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้น
ทั้งจากต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ต่างมีราคาสูงขึ้นทุกชนิด อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปัจจุบันราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 12.95 บาท จากราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.50-9.50 บาท เมื่อปี 2564 รวมถึงกากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าที่ราคากิโลกรัมละ 22.60 บาท จากราคาเฉลี่ยปี 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 16.20 บาท และการป้องกันโรคจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 300-500 บาทต่อตัวก็ตาม แต่เกษตรกรก็พร้อมจะผลักดันการเลี้ยงหมูให้มากขึ้น หากภาครัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เลี้ยงเช่นนี้ ที่สำคัญคือการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจะช่วยให้เกิดสมดุลของอุปทานและอุปสงค์ของตลาดดังเช่นที่ผ่านมา” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันนั้น หลังจากที่เกษตรกรต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการที่ต้องจำหน่ายสุกรต่ำกว่าต้นทุนเพื่อลดความเสี่ยงของโรค ASF เมื่อช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ทั้งแม่พันธุ์สุกร ลูกสุกรหย่านม และสุกรขุน หายไปจากระบบมากกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงและหยุดการเลี้ยงไปมากกว่าครึ่ง จากเกษตรกร 2 แสนรายทั่วประเทศ เหลือเพียง 8 หมื่นกว่ารายเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงที่หายไปดังกล่าวก็ไม่มีต้นทุนในการเข้าเลี้ยงสุกรเนื่องจากบางรายยังไม่ได้รับเงินชดเชยคงค้างจากภาครัฐ บางรายยังคงเป็นหนี้สินจากการลงทุนในรุ่นก่อนหน้า ดังนั้นมาตรการเยียวยาของภาครัฐดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มปริมาณสุกรในประเทศ เพื่อให้สอดรับกับจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน./